top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนAmazing Group of friends

Father Stu : บาทหลวงกำปั้นเหล็ก

Father Stu บาทหลวงกำปั้นเหล็ก ศรัทธา...เปลี่ยนคนห่วยเป็นบาทหลวง


 

ประเภท: ดราม่า

ผู้กำกับ: โรซาลินด์ รอส

นำแสดงโดย: มาร์ค วอห์ลเบิร์ก, เมล กิ๊บสัน, แจ็คกี้ วีเวอร์

ความยาว: 122 นาที

กำหนดฉายในไทย: 24 มิถุนายน 2022 (ที่ TrueID)

 

หยิบมารีวิวกันในวันนี้เป็นหนังที่เพิ่งเข้าฉายที่ทรูไอดี กับหนังดราม่าเป็นสอดแทรกด้วยพลังความศรัทธาและในการเปลี่ยนแปลงและค้นหาชีวิต นี่คือบทบาทการแสดงที่ถือว่าแตกต่างไปจากภาพเดิม ๆ ของ "มาร์ค วอห์ลเบิร์ก" หนุ่มขาบู๊ที่แฟน ๆ หนังคุ้นเคยกัน เพราะนี่คือ "Father Stu" หนังที่มาบอกเล่าถึงลำดับการเปลี่ยนของชีวิต จากจุดเปลี่ยนที่สำคัญจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ที่ทำการมอบแรงบันดาลใจกองโตส่งถึงผู้ชมโดยตรง



Father Stu เล่าเรื่องราวของ สจ๊วต ลอง อดีตนักมวยหนุ่มที่จำใจต้องแขวนนวมเอาไว้เพราะสุขภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวย เขาตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าเมืองใหญ่ เพื่อล่าฝันในการเป็นนักแสดง แต่เขาได้บังเอิญพบกับหญิงสาวสวยคนนี้ที่นำพาเขามาให้รู้จักกับชีวิตที่เต็มไปด้วยศรัทธาในรั้วโบสถ์คาทอลิก และเมื่อเขารอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์จากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ เขาจึงมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นบาทหลวง เผื่อเผยแพร่คำสอนศาสนาและช่วยเหลือเยียวผู้อื่น แม้ว่าคนรอบ ๆ ข้างเขาแทบจะไม่มีใครเชื่อและศรัทธาในตัวเขาเลยก็ตาม



หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของบาทหลวงท่านหนึ่งที่ได้สร้างพลังศรัทธาในหมู่ผู้คนได้อย่างเกรียงไกร โดยหนังเป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของผู้กำกับหญิงดาวรุ่ง "โรซาลินด์ รอส" ที่เรื่องนี้นับว่าเป็นผลงานการกำกับหนังใหญ่เรื่องแรกของเธอด้วย ซึ่งนับว่าเป็นผลงานชิ้นแรกที่ออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้ว่าสเกลของในครั้งนี้จะค่อนข้างแบกรับในหลาย ๆ องค์ประกอบไว้อย่างหนักหน่วง ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้หนังดูพะรุงพะรังไปสักหน่อย กับการเล่าเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีจุดเด่นและจังหวะหนังที่ยังไม่เร้าอารมณ์เท่าที่ควร



อาจจะต้องบอกว่า Father Stu คือหนังที่มีความเป็นคริสเตียนอยู่มาก โดยอาจจะไม่ใช่สอนศาสนาแบบจ๋า แต่ก็สอดแทรกคติและศรัทธาต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์เข้าไปตลอดทั้งเรื่อง แบบไม่ได้ยัดเยียดอะไรมากมาย แต่สิ่งที่หนังสอดแทรกเข้าไปนั้นกลับเป็นข้อคิดในหลาย ๆ แง่มุมในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะสายใยระหว่างครอบครัว ที่ผ่านตัวละครหลัก ๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าอุปสรรคหลายอย่างจะผ่านไปได้ด้วยการประคับประคองกันและกัน



Father Stu อาจจะเป็นหนังที่ขาดความกระชับไปสักหน่อย หนังเรื่องนี้ที่ลากยาวถึง 2 ชั่วโมงเต็ม ใช้เวลาปูเรื่องราวค่อนข้างหน้าเกือบจะปาไปเป็นชั่วโมงแล้ว และนั่นก็ย่อมหมายถึงว่ากว่าหนังจะจุดเครื่องสตาร์ทติดขึ้นมาได้ ค่อนข้างทุลักทุเลไม่เบา หากว่าหนังมีการปรับเนื้อหาและเล่าเรื่องให้กระชับมากขึ้นกว่านี้สักเล็กน้อย ตัดถอนดราม่าไม่จำเป็นหลาย ๆ สิ่งที่ย้วยออกไปบ้าง ก็น่าจะช่วยปรับให้ตัวหนังดูไม่ยืดยาดมากเท่านี้



ทีมนักแสดงเรื่องนี้ถือว่าได้เบอร์ใหญ่ ๆ มาไม่น้อย มาร์ค วอห์ลเบิร์ก ที่ช่วง ๆ หลังเขาเริ่มมาจับบทหนังที่ท้าทายกับอาชีพตัวเองมากขึ้น ไม่ได้วนอยู่แต่หนังแอคชั่นเดิม ๆ หันมาเล่นหนังดราม่ามากขึ้น และหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าเขาได้โชว์ศักยภาพทางการแสดงของตัวเองได้อีกระดับ แม้ว่าบทบาทและคาแรกเตอร์ที่เขาได้รับนั้น อาจจะยังไม่ได้ถึงขั้นสมบูรณ์แบบ แต่เขาก็สามารถแบกรับหน้าที่ของตัวเองในหนังเรื่องนี้เอาไว้ได้อยู่หมัด ตั้งแต่เริ่มต้นจนฉากสุดท้าย ถึงการแสดงที่ออกมาจะยังไม่มีอะไรให้จดจำเท่าไหร่



ขณะที่หนังยังสมทบด้วยรุ่นใหญ่ "เมล กิ๊บสัน" กับ "แจ็คกี้ วีเวอร์" ที่กลายเป็นตัวละครที่กว่าหนังจะมาให้ความสำคัญก็มาช่วงท้าย ๆ ถูกปล่อยปละไปอย่างน่าเสียดาย แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังคงรับหน้าที่ของตัวเองเอาไว้ได้ดีตามมาตรฐาน และมีส่วนช่วยประคองหนังเรื่องนี้ไปในทิศทางที่หนังควรจะไป ถึงจะไม่ได้จุดใด ๆ ที่ได้เฉิดฉายและปล่อยของทางการแสดงสักเท่าไหร่ แต่หน้าที่สมทบของพวกเขาก็ทำออกมาได้น่าพอใจดี



เอาเป็นว่าโดยภาพรวมหนัง Father Stu นับว่าเป็นดราม่าที่สอดแทรกแง่คิดศรัทธาในหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ได้ค่อนข้างตรึงใจในระดับหนึ่ง หนังอาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางศาสนา ชาวคริสเตียนน่าจะรู้สึกอินมากกว่า แต่กระนั้นไม่ว่าจะเป็นคนศาสนาใด ๆ ก็สามารถดูหนังเรื่องนี้และสัมผัสชีวิตของผู้ชายคนนี้ได้ถ่องแท้ได้ไม่ยากเช่นกัน นี่คือหนังดราม่าที่มีข้อความที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าการนำเสนออาจจะขาดเสน่ห์ไปสักหน่อย การเล่าเรื่องที่แทบไม่มีจุดเด่นจุดโดนมากนัก ทำให้เป็นหนังที่รสชาติค่อนข้างจืดและฝาดในบางช่วง แต่สุดท้ายหนังก็ทิ้งเอาไว้ด้วยแรงบันดาลใจดี ๆ เหมือนที่ท่านบาทหลวงตั้งใจอยากจะให้เป็น


 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม : รีวิวหนัง

ติดตามเนื้อเรื่องอื่น ๆ : รีวิวหนังภาพยนตร์

อ่านเพิ่มเติม : รีวิวหนังดัง






ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


โพสต์: Blog2_Post
bottom of page